Categories
บทความ

ขยะพิษโรงงานอุตฯไทย กำจัดถูกวิธีมีไม่ถึงครึ่ง นักวิจัยแนะต้อง ‘เปิดแข่งขัน – เปิดข้อมูลครบ’ เพิ่มประสิทธิภาพการกำจัดที่ดีกว่า

                                       สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
  • ปริมาณขยะพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมในไทยถูกส่งไปกำจัดถูกวิธีมีไม่ถึงครึ่ง ส่วนมากถูกนำไปกำจัดผิดวิธี ก่อมลพิษ สร้างผลกระทบต่อคนและสิ่งแวดล้อมในชุมชน
  • ขยะพิษจากโรงานอุตสาหกรรมเป็นขยะที่ต้องได้รับการกำจัดอย่างพิเศษ แต่โรงงานรับกำจัดกากอุตสาหกรรมถูกกฎหมายในไทยที่ได้มาตรฐานยังมีเพียงไม่กี่ราย สวนทางกลุ่มลักลอบทิ้ง หรือธุรกิจสีเทารับกำจัดโดยไม่ถูกต้อง
  • เมื่อโรงงานรับกำจัดถูกกฎหมายในไทยที่มีไม่กี่ราย จึงมีการแข่งขันต่ำ ราคาการกำจัดขยะพิษสูง โดยขยะพิษ 1 ตัน มีต้นทุน 4,000 – 5,000 บาท ไปจนถึง 150,000 บาท เพื่อเพิ่มศักยภาพการกำจัดขยะ และเพิ่มการแข่งขัน ประเทศไทยควรเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีสูงเข้ามาลงทุนในธุรกิจกำจัดขยะมากขึ้น
  • กรมโรงงานอุตสาหกรรมต้องเปิดเผยข้อมูลการกำจัดขยะของโรงงานที่ก่อขยะพิษ เพื่อเปิดให้มีการร่วมตรวจสอบ รวมถึงปรับปรุงมาตรฐานกระบวนการจัดการขยะและแยกบทบาทส่งเสริมอุตสาหกรรม กับการทำหน้าที่ตรวจสอบมลพิษโรงงาน ป้องกันการกำกับดูแลไม่เป็นกลาง
  • การปรับพฤติกรรมช่วยกันลดขยะ และแยกขยะในระดับครัวเรือน สำนักงาน ชุมชน ยังจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริม เพื่อช่วยกันลดปริมาณขยะพิษ รักษาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของทุกคนร่วมกันอย่างยั่งยืน

ปัญหาขยะพิษ หรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่รวมถึงขยะอันตราย เช่น แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย ภาชนะบรรจุสารเคมี ที่กำลังเป็นประเด็นในขณะนี้ ไม่ได้ก่อเกิดจากการลักลอบนำเข้าขยะมากำจัดในไทย และจากครัวเรือนหรือจากสำนักงานเท่านั้น แต่ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาขยะพิษจำนวนมหาศาลที่ก่อเกิดจากโรงงาน ในภาคอุตสาหกรรม หรือกากอุตสาหกรรม ซึ่งควรถูกกำจัดโดยโรงงานรับกำจัดขยะพิษที่ได้รับใบอนุญาตและมาตรฐานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) แต่วงจรการกำจัดขยะพิษที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมกลับไปไม่ถึงโรงงานที่สามารถรับกำจัดได้อย่างถูกต้อง ส่วนใหญ่รั่วไหลไปกำจัดผิดวิธี

ขยะอุตสาหกรรมที่นำไปกำจัดถูกกฎหมายมีไม่ถึงครึ่ง

โรงงานอุตสาหกรรมในไทย ดำเนินกิจการภายใต้กฎหมายโรงงาน และกฎหมายวัตถุอันตราย ที่ให้อำนาจแก่ กรอ. ในการกำกับดูแลโรงงานในภาคอุตสาหกรรม กฎหมายกำหนดให้ผู้ก่อกำเนิดขยะ หรือ Waste Generator ต้องขออนุญาตนำของเสียออกนอกโรงงานเพื่อนำไปกำจัด (สก.2) โดยในรายงานจะต้องระบุจำนวนขยะที่นำไปกำจัด ผู้ขนส่ง และโรงงานรับกำจัดที่มีใบอนุญาตจาก กรอ. แต่จากรายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย โดย กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ระบุว่า

ในปี 2559 ประเทศไทยผลิตกากอุตสาหกรรมอันตรายออกมา 2.8 ล้านตัน พบว่ามีผู้ขออนุญาตตามแบบ สก.2 หรือนำไปกำจัดโดยโรงงานรับกำจัดกากอุตสาหกรรมอันตรายที่ได้รับใบอนุญาตเพียง 1.1 ล้านตันหรือ 40% เท่านั้น ที่เหลืออีกประมาณ 1.6 ล้านตันหรือ 60% คือขยะพิษที่ไม่มีการขออนุญาตนำไปกำจัด และอาจเข้าสู่กระบวนการลักลอบทิ้งขยะผิดกฎหมาย เช่น บริษัทลักลอบรับกำจัดขยะทุกประเภทด้วยต้นทุนต่ำ แต่เป็นการรับขยะมาแล้วไม่นำไปกำจัดอย่างถูกต้อง เช่น ขยะอันตรายไปฝังกลบในหลุมฝังกลบขยะไม่อันตราย และนำไปสู่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้

“ซึ่ง กรอ. ยังไม่มีการเปิดเผยว่ามีโรงงานใดบ้างที่ไม่ได้สำแดงขยะในจำนวนนี้ และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลการติดตามและดำเนินคดีตามกฎหมาย ทำให้ไม่มีข้อมูลและสาธารณะไม่สามารถร่วมตรวจสอบได้ว่าขยะอันตรายเหล่านั้น ถูกนำไปกำจัดอย่างไรและผู้กระทำผิดได้รับโทษตามกฎหมายทั้งหมดหรือไม่

โรงงานกำจัดขยะพิษมีน้อย ยิ่งทำให้ต้นทุนการจัดการขยะพิษสูง

จากการศึกษาของ กะรัตลักษณ์ เหลี่ยมเพชร นักวิจัยทีดีอาร์ไอ พบว่า โรงงานรับกำจัดกากอุตสาหกรรมอันตราย หรือ ขยะพิษ ในประเทศไทยมีจำนวนน้อยรายในตลาด โดยมีโรงงานกำจัดขยะพิษที่สามารถกำจัดสารพิษทุกประเภทเพียง 4 โรงงานเท่านั้น โดยมี 3 โรงงาน ฝังกลบ และ 1 โรงงาน ที่ได้รับอนุญาตให้เผาอันตรายโดยใช้เทคโนโลยีเตาเผาเฉพาะ ที่เหลือเป็นโรงงานที่มีเทคโนโลยีประเภทการเผาโดยใช้เตาปูนซีเมนต์ซึ่งสามารถเผาขยะพิษได้บางประเภท เตาเผาขยะไม่อันตราย และโรงงานฝังกลบกากอุตสาหกรรมไม่อันตราย เป็นต้น ซึ่งการมีผู้ประกอบการโรงงานกำจัดขยะพิษในตลาดน้อยรายอาจทำให้เกิดการกำหนดราคาและผูกขาดตลาดได้ และนำไปสู่ประสบปัญหาการลักลอบทิ้งและกำจัดผิดกฎหมาย

เพื่อให้ทราบถึงต้นทุนในการกำจัดขยะอันตราย กะรัตน์ลักษณ์ และทีมวิจัยได้ศึกษาราคาการกำจัดกากอุตสาหกรรมอันตรายของบริษัทรับเผากากอุตสาหกรรมอันตรายด้วยเตาเผาเฉพาะ พบว่า ขยะอันตราย 1 ตัน มีต้นทุนราคาการกำจัดสูงตั้งแต่ 4,000-5,000 บาท ไปจนถึง 150,000 บาท นอกจากนี้ราคาการกำจัดกากอุตสาหกรรมยังสามารถเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่มีการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด สวนทางกับโทษตาม พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมานาน โดยกำหนดค่าปรับสูงสุดไว้ 200,000 บาท และจำคุกไม่เกิน 2 ปี อีกทั้งกฎหมายดังกล่าวสามารถเปรียบเทียบปรับในราคาต่ำกว่าโทษปรับสูงสุดที่กฎหมายกำหนดได้ จึงเป็นข้อสังเกตว่าทำไมจึงมีการลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรมอยู่

แก้ปัญหาขยะพิษในไทยต้องทำแบบครบวงจร

การแก้ปัญหาขยะพิษอย่างมีประสิทธิภาพต้องดำเนินการตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ด้วยกาสร้างมาตรฐานที่ดีในการจัดการขยะ  เปิดรับเทคโนโลยีการกำจัดขยะพิษจากผู้ประกอบการหน้าใหม่ และหน่วยงานรับผิดชอบต้องเพิ่มการตรวจสอบมลพิษจากโรงงานอย่างเข้มงวด

การสร้างมาตรฐานการจัดการขยะ ต้องเริ่มตั้งแต่ระดับครัวเรือน ชุมชน โดยส่วนราชการท้องถิ่นที่มีหน้าที่จัดการขยะตามกฎหมาย อย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น มีกฎหมายควบคุมมาตรฐานการแยกขยะครัวเรือน และมาตรฐานการจัดการขยะของหน่วยงานที่ัีัรับผิดชอบในการรวบรวม

ควบคู่กับการเดินหน้าผลักดันกฎหมาย “ซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกกันว่า WEEE (Waste from Electrical and Electronic Equipments)”1 ให้ออกมาบังคับใช้โดยเร็ววัน เนื่องจากการรณรงค์หรือการขอความร่วมมือเป็นครั้งคราวยังไม่เพียงพอ เพื่อกำหนดให้ผู้ผลิตต้องรับคืนซากอิเล็กทรอนิกส์ไปกำจัด โดยผู้ผลิตต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรีไซเคิล หรือกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท และบางประเภทผู้ใช้หรือครัวเรือนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการกำจัดร่วมกับผู้ผลิต

1 กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ยกร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และซากผลิตภัณฑ์อื่น พ.ศ. …. เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 วัตถุประสงค์หลักของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เพื่อกําหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขการจัดระบบรับคืน รวบรวม เก็บรักษา การขนส่งการรีไซเคิล และการกําจัดซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และของเสียอันตรายจากชุมชนอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ล่าสุดร่างพ.ร.บ.นี้กำลังเข้าสู่ขั้นตอนการนำเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เข้าไปสู่คณะกรรมา ธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (รายงานการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ในไทย : 2558)
https://tdri.or.th/2018/04/electronic-waste-management-in-thailand/

เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่มีเทคโนโลยีกำจัดขยะพิษเข้ามามากขึ้น การแก้ปัญหาการจัดการขยะพิษ และการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ต้องดำเนินการพร้อมการสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีเทคโนโลยีและความพร้อมในการจัดการกากอุตสาหกรรมมากขึ้น เนื่องจากหากมีขยะพิษและขยะอุตสาหกรรมทั่วไปเข้าสู่ระบบการกำจัดอย่างถูกหลักเพิ่มขึ้น จะทำให้โรงงานรับกำจัดขยะอันตรายที่มีอยู่น้อยรายในตลาดถือโอกาสเพิ่มราคาการกำจัด อีกทั้งกำลังการกำจัดขยะอันตราย อาจไม่เพียงพอกับขยะที่จะเข้ามาในระบบกว่าเท่าตัว

การกำกับดูแลเข้มงวดด้วยการเปิดเผยข้อมูล และเพิ่มโทษปรับการลักลอบ  กรอ. ควรเปิดเผยข้อมูลปริมาณการขออนุญาตกำจัดกากอุตสาหกรรมต่อสาธารณะ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบจาก สาธารณะ และส่งเสริมให้กระบวนการตรวจสอบและการกำจัดขยะพิษมีความโปร่งใส อีกทั้งต้องมีมาตรการที่ชัดเจนในการยกเลิกใบอนุญาตของบริษัทที่กระทำผิด พร้อมกับการเพิ่มโทษปรับ ให้มากกว่าต้นทุนการลักลอบกำจัดขยะพิษ

ในระยะยาวต้องมีหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมและมลพิษที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม แยกจาก กรอ. โดยให้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการกำกับดูแลตามกฎหมาย เนื่องจากปัจจุบัน กรอ. ทำหน้าที่เป็นทั้งหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรม และเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านมลพิษอุตสาหกรรม อาจทำให้การกำกับดูแลไม่เป็นกลาง เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา มีหน่วยงานที่เข้ามากำกับดูแลมาตรฐานมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรม คือ หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม หรือ Environment Protection Agency (EPA)

ปัญหาขยะพิษ เป็นหนึ่งในปัญหาขยะที่ถูกบรรจุไว้ในวาระแห่งชาติ ที่หลายฝ่ายตระหนักถึงความจำเป็นในการเร่งแก้ปัญหาทั้งระบบ ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ การผลิตขยะอันตรายจากภาคอุตสาหกรรมในแต่ละวันจะมากขึ้นตามมาด้วย รัฐต้องเข้ามาจัดการปฏิรูปการกำจัดขยะของประเทศ ตั้งแต่การเปิดเผยข้อมูล ไปจนถึงการเปิดโอกาสให้มีผู้เล่นหน้าใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งขยะอันตรายให้ได้

นอกจากนี้ต้นเหตุของขยะส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิตประจำวันของเรา การไม่คัดแยกขยะ ทิ้งขยะพิษรวมกับขยะมูลฝอย ไม่สามารถกำกับดูแลและจัดการขยะครัวเรือนได้ เพราะแม้เราสามารถห้ามการนำเข้าจากต่างประเทศ แต่หากขยะพิษที่ทับถมภายในประเทศไม่สามารถกำจัดอย่าง “หมดจด” ประเทศไทยอาจเข้าสู่สภาพมลพิษล้นประเทศได้ในอนาคต