หากย้อนกลับไปตั้งแต่ต้นปี 2562 จะพบว่าสถานการณ์การค้าโลกมีพลิกกลับไปกลับมาตลอดเวลา แต่มีรูปแบบซ้ำๆ เหมือนเดิม โดยเริ่มจากการที่ทั้งจีนและสหรัฐฯ มักจะให้ข่าวในเชิงบวกก่อนการประชุมการค้ากันและเกิดการผ่อนคลายระยะสั้น แต่จากนั้นต่างฝ่ายต่างกลับสร้างสถานการณ์ทำลายบรรยากาศที่ดี และตามด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าระหว่างกัน ส่งผลให้ท้ายที่สุดไม่สามารถตกลงกันได้ และการกล่าวโทษอีกฝ่ายว่าไร้ซึ่งความจริงใจ ฉายหนังวนซ้ำอยู่แบบเดิม
สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าวอาจเรียกได้ว่าเป็น “พายุ” ของภาคธุรกิจ เนื่องจากความไม่แน่นอนที่เกิดจากสงครามการค้าเปรียบเหมือนฝุ่นที่ปกคลุมทางเดินหรือถนนสายการค้าอยู่ ยิ่งไปกว่านั้นยังอาจเป็น “ฝุ่นพิษ” ที่ทำร้ายภาคธุรกิจได้ หากทั้งสองประเทศเลือกตอบโต้กันด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การที่ราคาหุ้นของบริษัทในอุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมเทคโนโลยี รวมถึงอุตสาหกรรมที่ผลิตฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือมักจะปรับลดลงอย่างหนักในช่วงที่มีข่าวว่าทั้งสองประเทศจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าระหว่างกัน รวมถึงการที่สหรัฐฯ จะเริ่มเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากยุโรปก็อาจทำให้สงครามการค้าขยายวงกว้างออกไป ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเพิ่มมากขึ้นไปอีก
หากจำกันได้ในปี 2561 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง และส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 2-3 ครั้งในปี 2562 แต่พอถึงต้นปีก็กลับลำเปลี่ยนท่าทีใหม่ส่งสัญญาณไม่ขึ้นดอกเบี้ย ตามด้วยการลดดอกเบี้ยลงติดๆ กัน 2 ครั้ง ในเดือนกรกฎาคมและกันยายน เพื่อรักษาการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงอันเป็นผลกระทบจากสงครามการค้า การลดดอกเบี้ยดังกล่าวส่งแรงกระเพื่อมถึงอีกหลายประเทศทำให้ต้องลดดอกเบี้ยลงตาม เช่น ยุโรป ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ อินเดีย เป็นต้น